เจ้าของธุรกิจต้องรู้ กฎหมายใหม่ แพลตฟอร์มดิจิทัล! มีผลบังคับใช้แล้ว
- ข่าวสารโลก
- September 26, 2023
เจ้าของธุรกิจต้องรู้ กฎหมายใหม่ แพลตฟอร์มดิจิทัล! มีผลบังคับใช้แล้ว
ฟังทางนี้กฎหมายใหม่ ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัว เพราะมีผลบังคับใช้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 66 เพื่อชี้แจงความโปร่งใสและแสดงถึงความปลอดภัยของการบริการ จากผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ กฎหมาย DPS เกิดขึ้นเพื่อกระตุ้นให้แพลตฟอร์มต่างๆที่ให้บริการกับผู้ใช้มีความปลอดภัยและเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาและลดปัญหาที่อาจจะขึ้นได้ในออนไลน์ได้
กฎหมาย แพลตฟอร์มดิจิทัล คืออะไร
ตามที่พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. ๒๕๖๕ (พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลฯ) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๕ และจะมีผลใช้บังคับ ในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ โดยกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทั้งในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักรต้องมาดำเนินการแจ้งให้ทราบ รวมถึงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้มีมาตรฐานการให้บริการที่น่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสาธารณชน พูดง่ายๆ คือ ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ ที่มุ่งเน้นการที่ดูแลผู้ประกอบธรุกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิตอล ผู้ประกอบการ ผู้ดูแล และเจ้าของธุรกิจ เพื่อให้ข้อมูลและให้ความให้ความร่วมมือกับทาง ETDA
เริ่มทำแบบทดสอบว่าเข้าข่าย แพลตฟอร์มดิจิทัลที่ไหน?
ผู้ประกอบการสามารถกดทำแบบทดสอบ ประเมินตนเอง ได้ทันทีที่ลิ้งค์ https://eservice.etda.or.th/dps-assessment/
กฎหมายนี้สำคัญกับใครบ้าง?
1.สำหรับเว็บไซต์และแพลตฟอร์มที่เข้าเกณฑ์ ต้องมาจดแจ้ง คือ เป็นพื้นที่ที่ให้คนซื้อขายมาเจอกัน มีการลงทะเบียนยูสเซอร์และมีผู้ใช้งานเกิน 5,000 คนต่อเดือน หากเป็นนิติบุคคลต้องมีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี และหากเป็นบุคคลทั่วไป ต้องมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี โดยมีผู้ประกอบการเข้าข่ายต้องมาจดแจ้งประมาณ 1,000 ราย
2.ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ยูทูบ กูเกิล และผู้ให้บริการอีมาร์เกตเพลส เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า ผู้ให้บริการเว็บไซต์ซื้อขาย บ้าน รถยนต์ และอื่น ๆ เป็นต้น
สำหรับกลุ่มที่ไม่ต้องจดแจ้ง
สำหรับ ยูทูบเบอร์ อินฟลูเอนเซอร์ และผู้ประกอบธุรกิจขายของออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่เข้าเกณฑ์ที่ต้องมาจดแจ้ง เป็นหน้าที่ของเจ้าของแพลตฟอร์มที่ต้องดำเนินการ และต้องมีการตั้งผู้ประสานงานในไทย และมีช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนกลางที่เกิดจากการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล หลังจากที่ผ่านมา มีกรณีไม่สามารถติดต่อผู้ให้บริการเหล่านี้ได้
ผู้ประกอบการรายย่อยต้องจดหรือไม่?
สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายย่อย หมายถึง กรณีบุคคลธรรมดารายได้ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาท หรือมีผู้ใช้บริการต่ำกว่า 5,000 คนต่อเดือน หรือถ้าเป็นนิติบุคคลรายได้ต่ำกว่า 50 ล้านบาท หรือมีผู้ใช้บริการต่ำกว่า 5,000 คนต่อเดือน ในกรณีเช่นนี้ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดังกล่าวจะไม่มีลักษณะตามที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด ทำให้ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลและการควบคุมดูแลตามหมวด 2 แต่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลรายย่อยจะต้องแจ้งรายการโดยย่อเกี่ยวกับข้อมูลของผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจ ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้แก่ ชื่อบริการแพลตฟอร์ม ประเภทบริการแพลตฟอร์ม และช่องทางการให้บริการ และข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสานงานในราชอาณาจักรในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักรเพื่อให้ ETDA ทราบ นอกจากนี้ ยังต้องแจ้งข้อมูลรายปีสำหรับมูลค่าการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการ ตลอดจนจำนวนรวมของผู้ใช้บริการและจำนวนของผู้ใช้บริการแต่ละประเภทอีกด้วย
สำหรับการแจ้งเลิกประกอบธุรกิจ ก็มีก็ปฎิบัติ!
หากวันหนึ่งมีผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเลิกประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมีการแจ้งเลิกประกอบธุรกิจด้วย ดังนี้ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. …. จึงได้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยบริการแพลตฟอร์มที่มีลักษณะทั่วไปจะต้องแจ้งต่อ ETDA ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนวันที่คาดว่าจะเลิกประกอบธุรกิจ แต่หากเป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางในการเสนอสินค้าหรือบริการ (Marketplace) หรือเป็น Search engine หรือเป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่หรือแพลตฟอร์มที่มีลักษณะเฉพาะ ต้องแจ้งให้ ETDA ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 120 วัน ก่อนวันที่คาดว่าจะเลิกประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลตฟอร์มที่เป็น Marketplace หรือ Search engine หรือแพลตฟอร์มขนาดใหญ่หรือแพลตฟอร์มที่มีลักษณะเฉพาะจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้หรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย หรือการอื่นที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลตามกฎหมายฉบับนี้จะต้องประกาศให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทราบถึงการแจ้งเลิกการประกอบธุรกิจทันทีที่ได้แจ้งให้ ETDA ทราบ จากนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่าผู้ประกอบธุรกิจได้ดำเนินการตามแผนและมาตรการที่กฎหมายกำหนดครบถ้วนแล้วหรือไม่ หากได้ดำเนินการโดยครบถ้วนแล้ว หรือหากไม่พบผู้ได้รับความเสียหายหรือผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งได้รับความเสียหายไม่ติดใจที่จะให้ดำเนินการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย พนักงานเจ้าหน้าที่ก็จะออกใบรับแจ้งการเลิกประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ และให้ถือว่าเลิกประกอบธุรกิจเมื่อออกใบรับแจ้งดังกล่าว
ทั้งนี้สามารถอ่านข้อมูลฉบับเต็มได้ที่ได้
ลิ้งค์
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก ETDA